วันอังคารที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553 | By: narutchai

จ่า สมเพียร เอกสมญา

พลตำรวจเอกสมเพียร เอกสมญา
(6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493— 12 มีนาคม พ.ศ. 2553) เป็นอดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบันนังสตา จังหวัดยะลา รับราชการตำรวจตั้งแต่เป็น พลตำรวจ จนถึงยศ พันตำรวจเอก และได้รับพระราชทานยศพลตำรวจเอกเป็นกรณีพิเศษ ได้ฉายาว่า จ่าเพียร นักสู้แห่งเทือกเขาบูโด และ จ่าเพียร ขาเหล็ก จากการปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเวลากว่า 30 ปี กระทั่งเคยได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญรามมาลาเข็มกล้ากลางสมร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และกระทำพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. 2525 จากการเสนอขอพระราชทานโดยพลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ เป็นตำรวจชั้นประทวนคนแรกที่ได้รับพระราชทาน

ประวัติและการรับราชการ
พล.ต.อ.สมเพียร เป็นบุตรคนที่ 4 ใน 10 คน ของนางไกร ชาวบ้านวังใหญ่ จังหวัดสงขลา กับนายโกว แซ่เจ่ง ชาวจีนอพยพมาจากไหหลำ เมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า "เนี้ยบ" เกิดที่ตำบลวังใหญ่ อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา จบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมเทพา โรงเรียนตำรวจภูธร 9 จังหวัดยะลา เมื่อ พ.ศ. 2513 (นพต. รุ่น 15) เริ่มต้นชีวิตรับราชการตำรวจที่ สภอ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งในขณะนั้น พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตเคลื่อนไหวของขบวนการโจรก่อการร้ายแบ่งแยกดินแดน ทำให้ภาครัฐต้องระดมสรรพกำลัง ทั้งทหาร ตำรวจ และ ฝ่ายปกครอง เข้าไปแย่งชิงมวลชน และดูแลความสงบเรียบร้อย หลายครั้งที่เกิดการปะทะ ทำให้มีการสูญเสียอย่างหนักทั้งสองฝ่าย เคยต่อกรกับกลุ่มที่ยืนตรงข้ามกับรัฐแทบทุกกลุ่ม ทั้งโจรจีนคอมมิวนิสต์ ขบวนการโจรก่อการร้าย และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เคยผ่านการยิงปะทะมาแล้วนับร้อยครั้ง สามารถสังหารฝ่ายตรงข้าม ยึดอาวุธปืน และที่พักเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลในการนำกำลังเข้าปะทะกับโจรก่อการร้ายดังกล่าว ทำให้ได้รับบาดเจ็บทั้งเล็กน้อยและสาหัสถึง 8 ครั้ง

เมื่อปี พ.ศ. 2519 พล.ต.อ.สมเพียร ในขณะที่ยังมียศ จ.ส.ต. เปิดฉากยิงปะทะกับขบวนการโจรก่อการร้าย กลุ่มนายลาเตะ เจาะปันตัง ที่จับตัวตำรวจและครอบครัวไปเรียกค่าไถ่ที่เทือกเขาเจาะปันตัง อำเภอบันนังสตา ผลจากการปะทะเขาถูกสะเก็ดระเบิดที่ขาซ้ายและหน้าอก ได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกส่งรักษาตัว รพ.ศูนย์ยะลา และจากการปะทะในครั้งนี้ทำให้ขาข้างซ้ายแทบพิการ

ปี พ.ศ. 2526 ยิงปะทะกับขบวนการโจรก่อการร้าย กลุ่มนายคอเดร์ แกแตะ กับพวกประมาณ 30 คนที่ อำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา ถูกยิงที่ต้นขาขวากระสุนฝังใน

ปี พ.ศ. 2550 พล.ต.อ.สมเพียร กลับสู่บันนังสตา มารับตำแหน่ง ผกก.สภ.บันนังสตา ติดยศ พ.ต.อ. ในขณะที่แผ่นดินกำลังลุกเป็นไฟ กลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ สามารถจัดตั้งแนวร่วมฯ และกองกำลังรบขนาดเล็ก (RKK) เพื่อใช้ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ ให้ได้รับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ถูกลอบยิง วางระเบิด ฆ่าตัดคอ ล้มตายเป็นใบไม้ร่วง นับเป็นงานที่หนักและท้าทายอย่างมาก แม้รูปแบบการก่อความไม่สงบของกลุ่มคนร้ายได้ปรับเปลี่ยนไปจากเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วมาก แต่อาศัยเป็นผู้ชำนาญในพื้นที่มาก่อน และมีแหล่งข่าวเก่าที่เคยทำงานร่วมกันในอดีต จึงไม่เกินความสามารถที่จะที่จะสืบเสาะหาแหล่งกบดาน และติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบ และหลังจากเข้ามารับตำแหน่ง ผกก.สภ.บันนังสตาได้ไม่นาน วันที่ 1 สิงหาคม 2550 ได้ นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดเข้าปิดล้อมตรวจค้น และยิงปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้ายที่บ้านเตี๊ยะ หมู่ 5 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา กลุ่มนายสุริมิง เปาะสา ที่ก่อเหตุร้ายในพื้นที่หลายครั้ง ผลการปะทะ ทำให้กลุ่มคนร้ายเสียชีวิต 6 ราย สามารถยึดอาวุธปืนสงครามและยุทธภัณฑ์ได้เป็นจำนวนมาก

วันที่ 18 สิงหาคม 2550 สนธิกำลังเข้าติดตามจับกุมบุคคลเป้าหมายในพื้นที่หมู่บ้านตะโล๊ะซูแม อ.กรงปินัง จ.ยะลา ได้ยิงปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้าย 5 นาที คนร้ายเสียชีวิต 1 คน ยึดอาวุธปืนพกขนาด 11 มม. 1 กระบอก
วันที่ 30 ตุลาคม 2550 นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการติดตามจับกุมกลุ่มคนร้าย ที่หมู่ 2 บ้านกือลอง ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา เกิดการปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้าย ประมาณ 20 นาที ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตใน ที่เกิดเหตุจำนวน 2 ราย ยึดอาวุธปืนพกได้ 1 กระบอก พร้อมยุทธภัณฑ์จำนวนหนึ่ง

วันที่ 29 มกราคม 2551 สนธิกำลังร่วมกับฝ่ายทหาร และฝ่ายปกครอง จัดกำลังเข้าไปติดตามจับกุมคนร้ายในพื้นที่ หมู่บ้านบูกาซาแก่ หมู่ 1 ต.บาเจาะ อ.บาเจาะ จ.ยะลา เกิดการยิงปะทะกับกลุ่มโจรก่อการร้าย เป็นเหตุให้ จ.ส.ต.ศรศักดิ์ รักนาย ผบ.หมู่ (ป.) สภ.บันนังสตา ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิต และฝ่ายคนร้ายถูกยิงเสียชีวิตจำนวน 1 ราย ทราบชื่อ นายสุไลมาน อภิบาลแบ เป็นผู้ต้องหาสำคัญตามหมายจับของศาล จังหวัดยะลาหลายคดี
วันที่ 19 เมษายน 2551 โดยในวันที่ 18 เมษายน 2551 ได้รับรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ กลุ่มของนาย หะยีสการียา หะยีสาเมาะ แกนนำสำคัญของกลุ่มก่อความไม่สงบ กับพวกประมาณ 13 คน ได้ปรากฏตัว และหลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ บ้านตือระ หมู่ที่ 8 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงได้สนธิกำลัง 3 ฝ่าย เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งการเข้าไปปฏิบัติการกระทำได้ยากลำบาก เนื่องจากมีแนวร่วมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่เต็มพื้นที่ และรอบ ๆ จึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธี โดยขนย้ายกำลังข้ามแม่น้ำปัตตานี ซึ่งอยู่ตรงข้ามเป้าหมาย เพื่อตัดโอกาสแจ้งข่าว จึงได้ลำเลียงกำลังพลข้ามแม่น้ำปัตตานี โดยใช้แพยางลอยคอเกาะกลุ่มกันไปท่ามกลางกระแสน้ำ ที่เชี่ยวกราก และเสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง จาก การยิงปะทะต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ในสถานการณ์ที่ไม่ได้เปรียบกับฝ่ายตรงข้าม สามารถสังหารฝ่ายตรงข้ามจำนวน 1 ราย ทราบ ชื่อ นายเพาซี อาลีเมาะ แนวร่วมคนสำคัญที่ก่อเหตุมาหลายครั้ง

วันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ได้สนธิกำลังเข้าไปติดตามจับกุมคนร้ายในพื้นที่บ้านบาเจาะ หมู่ 2 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา และเกิดการยิงปะทะต่อสู้กัน เป็นเหตุให้คนร้ายเสียชีวิตจำนวน 1 ราย ทราบชื่อ นายมะ แวดอนิ อายุ 24 ปี สามารถยึดอาวุธปืนพกสั้น ขนาด 9 มม. ได้จำนวน 1 กระบอก ตำรวจบาดเจ็บ 8 นาย

วันที่ 23 มิถุนายน 2551 รับรายงานจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ได้ก่อเหตุซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ชุดพลร่ม ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิตจำนวน 1 นาย และบาดเจ็บจำนวน 5 นาย ได้หลบซ่อนตัวอยู่หลังหมู่บ้านบางกลาง หมู่ที่ 3 ต.บาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา จึงได้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร อส. เข้าติดตามจับกุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ โดยจัดกำลังชุดปฏิบัติการ 4 ชุด ต่อมาเมื่อเวลา 16.05 น. ชุดปฏิบัติการที่ 3 ได้ยิงปะทะสู้กับกลุ่มของคนร้าย เป็นเหตุให้ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต 1 ราย ต่อมาชุดปฏิบัติการที่ 2 ยิงปะทะต่อสู้กับกลุ่มคนร้าย เป็นเหตุให้ฝ่ายคนร้ายเสียชีวิตอีก 1 ราย ก่อนขอกำลังสนับสนุนสังหารกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพิ่มขึ้นอีก 4 ราย ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 4 ราย
ชีวิตส่วนตัว
พล.ต.อ.สมเพียร เมื่อกำเนิดมีชื่อว่า เนี้ยบ แซ่เจ่ง ชื่อจริงว่า สมเพียร ถูกตั้งโดยครู เมื่อครั้งเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวังใหม่ ส่วนนามสกุล "เอกสมญา" ได้เปลี่ยนเมื่อเข้าเรียนโรงเรียนตำรวจ โดยอาศัยใช้นามสกุลของนายตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง
พล.ต.อ.สมเพียร สมรสกับ นางสาวพิมพ์ชนา ภูวพงษ์พิทักษ์ บุตรสาวของนายตำรวจโรงพักปันนังสตาเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2514[11] มีบุตรชาย 4 คนได้แก่ นายชุมพล เอกสมญา, นายเสรฐวุฒิ เอกสมญา, นายอรรถพร เอกสมญา และ ส.ต.ท.โรจนินทร์ ภูวพงศ์พิทักษ์

จากทำงานในพื้นที่มาอย่างโชคโชนและยาวนาน ทำให้ทางครอบครัวเกิดความวิตกพร้อมทั้งขอให้เปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น "ภูวพงษ์พิทักษ์" เพื่อเป็นสิริมงคล แต่ พล.ต.อ.สมเพียร ได้ขอกลับมาใช้นามสกุลเดิม ส่วนนามสกุลใหม่มีภรรยาและบุตรชายคนที่ 2 - 3 ใช้ จนกระทั่งวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 กลุ่มคนร้ายได้ลอบวางระเบิดขึ้นหลายจุดในพื้นที่วางแผนให้ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา นำกำลังเดินทางเข้าไป จนถูกคนร้ายระเบิดรถยนต์ที่นั่งคันเดียวกันนี้ ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะเล็กน้อย บริเวณบ้านยีลาปัน หมู่ที่ 11 ต.ตลิ่งชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา บนถนนสาย 410 ยะลา – เบตง

ทำเรื่องย้าย
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553 พล.ต.อ.สมเพียร เดินทางมาร้องเรียนกับ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย หลังการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับรองผบก.-สว.ครั้งที่ผ่านมา ระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งแต่งตั้งโยกย้าย เพราะพล.ต.อ.สมเพียรขอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโยกย้ายไปเป็นผกก.สภ.กันตัง จังหวัดตรัง พื้นที่ของตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งมีตำแหน่งว่างอยู่ และเห็นว่าเป็นปีสุดท้ายก่อนที่จะเกษียณราชการในปี พ.ศ. 2553 นี้แล้ว หลังจากที่รับราชการตำรวจตั้งแต่ชั้นประทวนมาเป็นเวลา 40 ปี แต่สุดท้ายไม่ได้รับการพิจารณา โดยไม่ทราบเหตุผลชัดเจน จนต้องร้องเรียนเรื่องนี้ให้รัฐบาลรับทราบ

เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีไม่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้าย และขอความเป็นธรรมให้ข้าราชการตำรวจที่มีผลงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดย พล.ต.อ.สมเพียร กล่าวว่า ตนได้ทำหนังสือผ่าน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ที่ปรึกษา สบ.10 เพื่อขอย้ายไปเป็นผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.กันตัง จ.ตรัง ซึ่งทราบจากสื่อมวลชนว่ารายชื่อของตนได้มีการบรรจุในบัญชีการแต่งตั้งโยก ย้ายในกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 แล้ว แต่ ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาทางภาค 9 กลับไม่ยินยอม แต่กลับมีชื่อนายตำรวจคนอื่นไปรับตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจภูธร อ.กันตัง แทน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตำแหน่งดังกล่าวว่างอยู่ ทางผู้บังคับบัญชาส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องที่จะให้ตนไปรับตำแหน่ง แต่เมื่อถึงเวลาตนกลับไม่ได้รับการพิจารณา ทั้งที่รับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มา 30 ปี และเหลือชีวิตราชการอีกเพียง 18 เดือน จะขอย้ายกลับไปพักผ่อนกับครอบครัวบ้างกลับไม่ได้รับการพิจารณา
กระแสข่าวกล่าวว่า เดิมผู้บังคับบัญชากำหนดให้ พล.ต.อ.สมเพียร จะมาดำรงตำแหน่งผกก.สภ.กันตัง จังหวัดตรัง แต่ต้องหลีกทางให้กับนายตำรวจอีกคนหนึ่งที่ย้ายมาจาก สภ.หาดสำราญ จังหวัดตรัง โดยจะย้ายพล.ต.อ.สมเพียรไปเป็นผกก.สภ.เมืองตรัง แทนคนเดิมที่ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น รอง ผบก.จว.ตรัง ในที่สุดกลับต้องหลีกทางให้นายตำรวจอีกคนหนึ่งที่ถูกผู้บังคับบัญชาต้องการให้ย้ายออกจากตำแหน่งผกก.สภ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ไปประจำสภ.ปันนังสตา แต่เนื่องจากนายตำรวจคนนั้นไม่อยากย้ายไปอยู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้วิ่งเต้นกับนักการเมืองในจังหวัดสงขลาและจังหวัดตรัง ให้ย้ายตนไปเป็นผกก.สภ.เมืองตรังแทน โดยพล.ต.อ.สมเพียรต้องดำรงตำแหน่งผกก.สภ.ปันนังสตา ตามเดิม

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาชี้แจงว่า คณะกรรมการ ก.ตร ได้เตรียมพิจารณาข้อเรียกร้องของพล.ต.สมเพียรในวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553 โดยจะพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเป็น รอง ผบก. แต่พล.ต.อ.สมเพียรได้เสียชีวิตเสียก่อน

เสียชีวิต
วันที่ 12 มีนาคม 2553 ในขณะที่ พล.ต.อ.สมเพียร นั่งรถยนต์กระบะยี่ห้อโต้โยต้าไฮลักซ์วีโก้ 4 ประตู สีน้ำตาล หมายเลขทะเบียน กข 9302 ยะลา พร้อมลูกน้อง 3 นาย และ อส.คนสนิท อีก 1 นาย คือ ร.ต.ท.กิตติศักดิ์ โลมา รอง สว.ปป.สภ.บันนังสตา, ด.ต.โสภณ อินทรบวร และ ส.ต.ท.ระวิกรณ์ สังข์ศิริ และ อส.อับดุลอาซิ กาจะลากี ออกไปติดตามหาข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หลังทราบข่าวว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ได้ออกมาเคลื่อนไหวในพื้นที่ เพื่อเตรียมก่อเหตุร้ายครั้งใหญ่ เมื่อขับรถยนต์มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ มีคนร้ายไม่ทราบกลุ่ม จำนวน 5-8 คน กดระเบิดที่ฝังไว้ และใช้อาวุธสงครามยิงเข้าใส่ จำนวนหลายชุด เกิดการปะทะกันประมาณ 10 นาที เมื่อกำลังเสริมเข้าไปกลุ่มคนร้ายได้ล่าถอยเข้าไปในป่า ทั้งหมดถูกลำเลียงทั้งทางรถยนต์ และทางเฮลิคอปเตอร์เป็นการด่วน แรงระเบิดและคมกระสุนส่งผลให้ พล.ต.อ.สมเพียร ทนพิษบาดแผลไม่ไหวเสียชีวิตที่ รพ.ศูนย์ยะลา สิริอายุ 59 ปี ส่วนลูกน้องคนสนิท 4 นาย บาดเจ็บสาหัส ส่วน ด.ต.โสภณ อินทรบวร เสียชีวิตในเวลาต่อมา[16]และได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจเอก และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 1 ประถมาภรณ์มงกุฎไทย เป็นกรณีพิเศษ[17]

[แก้] การพระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษ
หลังจาก พล.ต.อ.สมเพียร เสียชีวิต ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พิจารณาตอบแทนให้เลื่อนขั้น 7 ขั้นยศเป็น พลตำรวจเอก ในวันที่ 13 มีนาคม มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์และมอบเงินสวัสดิการตำรวจที่จะช่วยเหลือแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตจำนวนเงิน 3 ล้านบาท พร้อมดูแลการศึกษาของทายาทจนจบระดับปริญญาตรี หรือการรับเข้าทำงานราชการตำรวจต่อไป ซึ่งจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่[18]

หลังจากเกิดเหตุ ชาวบ้านในพื้นที่ อ.บันนังสตา ได้แจ้งข้อมูลข่าวสารมายัง สายด่วน 1880 ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าชุดที่ก่อเหตุลอบวางระเบิดรถ ผกก.สมเพียร คือ กลุ่มของนายมุตา อาลีมามะ แกนนำคนสำคัญที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ ต.บาเจาะ ต.ตลิ่งชัน และ ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังตา และ ชุดสืบสวนสอบสวนของ สภ.บันนังสตา ทราบตัวผู้ก่อเหตุ และได้ขออนุญาตศาลออกหมายจับ นายมะตอแฮ สิแล อายุ 31 ปี อยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 9 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา หมายจับเลขที่ 160/50 มีคดีความมั่นคงในการร่วมก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่หลายคดี และนายยูกีบือลี เจ๊ะดีแม อายุ 31 ปี อยู่ หมู่ที่ 4 ต.ตาเนาะปูเต๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา หมายจับเลขที่ 121/51 ในคดีร่วมกันฆ่าเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บันนังสตาได้ออกติดตามไล่ล่าบุคคลทั้งสอง ซึ่งคาดว่ายังคงเคลื่อนไหว หลบซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ ต.ตลิ่งชัน ต.ตาเนาะปูเต๊ะ และเขตร่อยต่อ อ.กรงปินัง จ.ยะลา[16]

วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2553 เมื่อเวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อเป็นองค์ประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.อ.สมเพียร เอกสมญา อดีต ผกก.สภ.บันนังสตา จ.ยะลา ณ วัดคลองเปล ต.คอหงส์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ยังความปลื้มปีติให้แก่ครอบครัวของ พล.ต.อ.สมเพียร เป็นล้นพ้น[17]

[แก้] เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พล.ต.อ.สมเพียรได้รับการโปรดเกล้าฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับพระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี เหรียญมาลาเข็มกล้ากลางสมร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และกระทำพิธี ถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2525 [3] และนับเป็น ตำรวจเพียงคนเดียวในขณะมียศ "จ่าสิบตำรวจ" ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น[19] นอกจากนี้ พล.ต.อ.สมเพียร ยังได้รับพระราชทาน และประกาศเกียรติคุณจากหน่วยงานต่างๆ อีกมากมาย เช่น

ได้รับพระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชนชั้นสอง ประเภทหนึ่ง
ได้รับประกาศนียบัตร ”ผู้มีผลงานสู้รบดีเด่น” จากกระทรวงมหาดไทย
ได้รับเข็มรักษาดินแดนสดุดี จากกระทรวงมหาดไทย
ได้รับมอบเกียรติบัตรผู้ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องประเทศชาติด้วยความเสียสละ จากองค์การทหารผ่านศึก
ไดัรับประกาศผู้มีผลงานดีเด่นด้านการปราบปราม จากกองบัญชาการตำรวจภูธร 9
ได้รับการคัดเลือกเป็นศิษย์เก่า โรงเรียนตำรวจภูธร 9 ดีเด่น
ได้รับหนังสือสำคัญ จากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต ) ยกย่องเชิดชู เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน และรักษาความสงบสุขของบ้านเมือง ด้วยความเข้มแข็งเสียสละ ฯลฯ

นิติศาสตร์

นิติศาสตร์
เป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องกฎหมาย หรือวิชาที่มีกฎหมายเป็นวัตถุของการศึกษา ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ ได้ใช้คำภาษาอังกฤษแทนวิชานิติศาสตร์ว่า "science of law"



การศึกษานิติศาสตร์
วิชานิติศาสตร์สามารถแบ่งออกเป็นหลายแขนงได้ตามแง่มุมที่ศึกษา ซึ่งอาจสามารถแบ่งออกได้เป็น

วิชานิติศาสตร์โดยแท้ (legal science proper) ได้แก่ การศึกษาตัวบทกฎหมายซึ่งเป็นเนื้อหากฎหมาย และนิติวิธีหรือวิธีการใช้กฎหมายเพื่อนำไปใช้ปรับใช้แก่คดีและประกอบวิชาชีพนักกฎหมาย
นิติศาสตร์ทางข้อเท็จจริง (legal science of facts) เป็นการศึกษากฎหมายในฐานะที่เป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์หรือในสังคม โดยไม่ประเมินคุณค่าว่าถูกหรือผิด เช่น วิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย และวิชาสังคมวิทยากฎหมาย
นิติศาสตร์เชิงคุณค่า (legal science of values) เป็นการศึกษากฎหมายในเชิงวิจารณ์เปรียบเทียบและประเมินคุณค่า เช่น วิชากฎหมายเปรียบเทียบ และวิชานิติบัญญัติ
การศึกษากฎหมายในระดับที่มีความสัมพันธ์กับปรัชญา จะถูกเรียกว่าวิชา นิติปรัชญา หรือ philosophy of law

หลักนิติศาสตร์ (Jurisprudence) คำดังกล่าวในภาษาอังกฤษ เป็นคำเก่าที่ใช้ตั้งแต่สมัยโรมัน โดยมาจากภาษาลาตินว่า jurisprudentium มีรากศัพท์จาก "juris" แปลว่า กฎหมาย และ "prudentium" แปลว่า ความฉลาด ซึ่งรวมแล้วแปลว่า "ความรู้กฎหมายหรือวิชากฎหมาย" โดยในประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนียน จะกล่าวไว้ในมูลบทนิติศาสตร์ฉบับที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วว่า "jurisprudence is the knowledge of things devine and human; the science of the just and the unjust".

อย่างไรก็ตาม jurisprudence ยังคงมีการใช้ในความหมายพิเศษอีก ได้แก่

Jurisprudence ในภาษาฝรั่งเศส ย่อมาจากคำว่า jurisprudence constant หมายถึง ความรู้กฎหมายที่เกิดจากแนวคำพิพากษาของศาล เป็นคำตรงข้ามกับ doctrine ซึ่งหมายถึง กฎหมายที่สอนในตำรากฎหมาย
Jurisprudence เป็นชื่อวิชาเฉพาะที่สอนในโรงเรียนกฎหมายในอังกฤษ ซึ่งเริ่มก่อตั้งโดย John Austin เมื่อ ค.ศ. 1828-1832 ในมหาวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งมีคำสอนว่ากฎหมาย คือ คำสั่งของรัฐาธิปัตย์ และถูกนำเข้ามาในประเทศไทยโดยเสด็จในกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์

การเรียนการสอนนิติศาสตร์ในประเทศไทย
ดูเพิ่มที่ รายชื่อคณะนิติศาสตร์ในประเทศไทย
ในปี พ.ศ. 2440 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงก่อตั้ง "โรงเรียนกฎหมาย" ขึ้นในกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเปิดการเรียนการสอนโดยคณาจารย์ส่วนใหญ่เป็นตุลาการ ต่อมา จึงมีการยุบโรงเรียนกฎหมายไปจัดตั้งเป็น "คณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์" ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2476 หลังจากนั้นเพียง 8 เดือน นักเรียนโรงเรียนกฎหมาย กระทรวงยุติธรรมเดิม ไม่พอใจที่ทำไมโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (ปัจจุบันคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัย แต่ทำไมโรงเรียนกฎหมายจึงไม่ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยบ้าง ดร.ปรีดี พนมยงค์ จึงรับปากว่าจะช่วย และในที่สุดจึงมีการออกพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ให้โอนคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปสังกัดมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งจัดตั้งขึ้นใหม่ ปัจจุบัน คือ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการโอนโรงเรียนกฎหมายไปสังกัดคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการโอนไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น ทำให้คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคณะนิติศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย อันสืบทอดโดยตรงจากโรงเรียนกฎหมายเดิม และเมื่อปี พ.ศ. 2494 ได้มีการจัดการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกครั้งใน คณะรัฐศาสตร์ ก่อนที่จะพัฒนามาเป็น คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2515 และมีการก่อตั้ง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ปัจจุบัน มีสถาบันอุดมศึกษาได้เปิดการเรียนการสอนในสาขาวิชานิติศาสตร์ในหลายสถาบันทั้งในภาครัฐและเอกชน

นิติศาสตรบัณฑิต
นิติศาสตรบัณฑิต (น.บ.) เป็นปริญญาหรือวุฒิทางการศึกษา ซึ่งผู้ที่ต้องการประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมาย เช่น ทนายความ ผู้พิพากษา อัยการ นิติกร จะต้องได้รับก่อนที่จะสามารถเริ่มเข้าสู่วิชาชีพด้านกฎหมาย โดยเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่ใช้เพื่อเข้ารับการอบรมและสอบเพื่อเป็นทนายความหรือสอบเนติบัณฑิตไทย เพื่อที่จะมีสิทธิสอบคัดเลือกเพื่อเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการต่อไป

โดยทั่วไปหลักสูตรจะใช้เวลาศึกษา 4 ปี วิชาที่ศึกษาจะเน้นกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา กฎหมายปกครอง รัฐธรรมนูญ และกฎหมายวิชาเลือกอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้จุดเน้นของหลักสูตรอาจแตกต่างตามสถาบันการศึกษา
วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2553 | By: narutchai

อำนาจของตำรวจ

อำนาจของตำรวจตามพฤตินัย ตำรวจมีแนวทางในการประพฤติปฏิบัติหน้าที่ ตามประเพณีที่เป็นแบบอย่างดังนี้ ตำรวจมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและมีอำนาจจะสอบสวน จับกุม คุมขัง ปราบปราม เป็นเครื่องมือสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่อำนาจเหล่านี้สามารถสร้างคุณและโทษได้เท่าๆ กัน สุดแต่การใช้ ตำรวจทุกคนจึงจำเป็นต้องควบคุมจิตใจให้มั่นคง เที่ยงตรงอยู่ในความสัตย์สุจริต ไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่ด้วยอคติ หรือยอมให้ผู้อื่นมาแอบแฝงใช้อำนาจของตนโดยไม่เป็นธรรม

อำนาจของตำรวจจะเกิดผลเป็นคุณประโยชน์ คือ เป็นการรักษาความสงบสุข ปกป้องสุจริตธรรม และผดุงความถูกต้องเป็นธรรม จึงต้องขอให้ตำรวจทั้งหลายได้คิดพิจารณาให้เห็นถ่องแท้ จะได้สามารถใช้อำนาจที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่ของ "ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์" ให้สำเร็จประโยชน์โดยบริสุทธิ์บริบูรณ์

ตำรวจ

ตำรวจ หมายถึง เจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบ จับกุม และปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมาย เรียกชื่อตามหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ตำรวจกองปราบ ตำรวจดับเพลิง ตำรวจน้ำ ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ ตำรวจจราจร ตำรวจนครบาล ตำรวจทางหลวง ตำรวจภูธร ตำรวจลับ ตำรวจวัง ตำรวจสภา ตำรวจสันติบาล ตำรวจหลวง